กรุงเทพฯ 3 พฤษภาคม 2561 – กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้านโยบายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Industrial Town เพื่อสร้างระบบการจัดการลดมลพิษ ในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่น และเตรียมความพร้อมในการป้องกันพื้นที่ที่จะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ โดยสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินการตรวจประเมินเขต/ สวน /นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 18 แห่งบนพื้นที่ 15 จังหวัด ซึ่งพบว่ามี  13 แห่งผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในระดับ ECO Industrial Park 5 ,Eco Excellence และ Eco Champion   นอกจากนี้ ในปี  2561 – 2562 ยังจะเร่งยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินตามนโยบายดังกล่าว เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 1500 โรงงาน

นายสมชาย หาญหิรัญ  รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันนโยบายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ใน 5 มิติ ได้แก่ มิติด้านกายภาพ  มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม  มิติด้านสังคม  มิติการบริหารจัดการ ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างระบบการจัดการเพื่อลดมลพิษสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่น และ เตรียมความพร้อมพื้นที่ที่จะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในอนาคต  โดยยังได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลักดันพื้นที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่ จํานวน 18 แห่ง 15 จังหวัด ประกอบด้วย  จ.สมุทรปราการ จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ระยอง จ.ชลบุรี จ.สมุทรสาคร จ.นครปฐม จ.ปทุมธานี จ.ราชบุรี จ.นครราชสีมา จ.พระนครศรีอยุธยา จ.สระบุรี จ.ขอนแก่น จ.สงขลา และ จ.สุราษฎร์ธานี ให้มีการยกระดับพื้นที่ไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ดังกล่าว จัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนเดิมที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเขตอุตสาหกรรม และการพัฒนาเมืองใหม่และเมืองนิเวศในอนาคต

ด้าน นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2560 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินการตรวจประเมินเขตประกอบการอุตสาหกรรม      สวนอุตสาหกรรม และนิคมคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ใน 18 พื้นที่เป้าหมายใน 15 จังหวัด โดบพบว่ามี เขตอุตสาหกรรมที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 13 พื้นที่ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ ECO Industrial Park 5 หรือ เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ทําให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุข จำนวน 4 แห่ง ได้แก่  เขตประกอบการไออาร์พีซี สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์กบินทร์บุรี และสวนอุตสาหกรรมบางกะดี

กลุ่มที่ 2   ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในระดับ Eco World Class หรือ นิคมอุตสาหกรรมชั้นนำที่สามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล

กลุ่มที่ 3  ผ่านการตรวจประเมินเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ ECO Champion หรือ นิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างผาสุกบนหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม จำนวน 8 แห่ง ได้แก่

 

 

 

 

ท่าเรือมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมบางปู และนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ที่

อย่างไรก็ดี ในปี 2561 และ ปี 2562 ในส่วนของการดำเนินงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้เข้าร่วมการพัฒนาให้ได้ CSR beginner  เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1500 โรงงาน พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดการด้านวัสดุและพลังงานของโรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังจะเร่งยกระดับพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเพื่มเติมอีกใน 8 จังหวัด 10 พื้นที่ให้ผ่านเกณฑ์การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ  นายมงคล กล่าวสรุป

เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดพิธีมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินการการพัฒนาและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ประกอบการอื่นๆ ณ ห้องประชุม 509 ชั้น 5 อาคารกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรุงเทพฯ

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 022024167 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th

###