กรมโรงงานฯ อัพดีกรีกม. 3 ฉบับ เพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดขยะอุตฯ

ดีเดย์ใช้ 1 พ.ค. นี้ พร้อมชี้ประโยชน์แก่โรงงาน รองรับอุตฯขยายตัวทั่วไทย

  

 

กรุงเทพฯ 27 เมษายน 2561 –  กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดตัวกฎหมายการขออนุญาตและการอนุญาตนำ
สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงาน เพื่อให้การจัดการกากอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ
3 ฉบับ ได้แก่ 1.หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขออนุญาต  2. การกำหนดชนิดและประเภทและวิธีการกำจัด และ 3. การรับรองผู้บำบัดและกำจัดที่จะเข้าใช้งานระบบ Auto E-license พร้อมเผยประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ก่อกำเนิดของเสีย ผู้บำบัด/กำจัดของเสีย และกรมโรงงานฯ จะได้รับเพิ่มมากขึ้น อาทิ ความสะดวก รวดเร็วและโปร่งใส ลดภาระพื้นที่การจัดเก็บกากอุตสาหกรรม ยกระดับมาตรฐานการประกอบการกำจัดกากอุตสาหกรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจติดตามและกำกับดูแล  ทั้งนี้ จากการออกกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวส่งผลให้ ระบบ Auto E-license พร้อมใช้งานในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2561 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดการกากอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอย่างครบวงจร อันได้แก่ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator: WG) ผู้ขนส่งของเสีย (Waste Transporter: WT) และผู้บำบัด กำจัด และรีไซเคิลของเสีย (Waste Processor: WP) ล่าสุดจึงได้มีการปรับปรุง ข้อกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ. โรงงาน เกี่ยวกับการขออนุญาตและการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกบริเวณโรงงาน (สก.2) เพื่อให้การจัดการกากอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม เพิ่มอีก 3 ฉบับ โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย

  1. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต สก.2 ผ่านระบบ E-license และ Auto E-license โดยมีการกำหนดขั้นตอนขออนุญาตและการอนุญาต รวมถึงกำหนดคุณสมบัติของผู้ก่อกำเนิดของเสีย และผู้บำบัด กำจัด และรีไซเคิลของเสียที่จะมาใช้งานระบบ E-license และ Auto E-license
  2. การกำหนดชนิด ประเภทและรหัสของเสียรวมถึงวิธีกำจัด ของสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานสำหรับระบบ Auto E-license เพิ่ม จำนวน 402 รหัส หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของรหัสของเสียอุตสาหกรรมทั้งหมด
  3. การรับรองผู้บำบัดและกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และการกำหนดคุณสมบัติของผู้รับบำบัดหรือกำจัดกาก(WP) ที่จะเข้าใช้งานระบบ Auto E-license โดยต้องผ่านการรับรอง Green Industry ระดับที่ 3 ขึ้นไป ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานจัดการกากอุตสาหกรรม ระดับเหรียญทอง และต้องมีการดำเนินการบำบัด/กำจัดในกระบวนการที่ขอรับรองไม่น้อยกว่า 1 ปี

โดยการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบดังกล่าว จะช่วยให้เกิดประโยชน์ ต่างๆ ในแต่ละมิติ ได้แก่ ทางด้านผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator: WG) คือ โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป  จะสามารถย่นระยะเวลาการขออนุญาตและลดภาระพื้นที่การจัดเก็บกากอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสและทางเลือกในวิธีและกระบวนการกำจัดกากที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ส่วนทางด้านผู้รับบำบัด/กำจัดของเสีย (Waste Processor: WP) หรือโรงงานผู้รับบำบัดและกำจัดกาก จะก่อให้เกิดการแข่งขันในเรื่องของกระบวนการกำจัด รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมการกำจัดในรูปแบบใหม่เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ดีขึ้นในอนาคต และถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการประกอบการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม คาดว่ากากขยะอุตสาหกรรมจากในปริมาณทั้งหมดกว่า 24 ล้านตัน ตามตัวชี้วัดในปีงบประมาณ 2561 จะสามารถเข้าระบบได้มากขึ้น และมีการพิจารณาเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจติดตามและกำกับดูแล นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าจะเพิ่มปริมาณผู้ประกอบการที่รับกำจัดกากชั้นดีให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ สามารถคัดเลือกตามความเหมาะสมของประเภทกากขยะ และเพิ่มโอกาสและทางเลือกให้กับผู้ก่อกำเนิดของเสียได้ต่อไป นายมงคล กล่าวสรุป

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 022024167 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th

 

###