กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เดินหน้าลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชน 14 แห่ง ได้แก่ บริษัท การบินกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซัมมิท โฮโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ฤทธา จำกัด บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ฮอนด้า ออโตดมบิล จำกัด และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา ป้อนภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-Curve เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

 

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการรวมพลังระหว่างภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐในการทำงานพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมขอภาคประชาสังคมในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ตระหนักถึงการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะแรงงานประเภทมีฝีมือ โดยความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายคือ 1.การ Re-branding สร้างแรงจูงใจผ่านภาพลักษณ์ที่ดีกับกลุ่มเป้าหมายทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยจะสื่อให้เห็นถึงโอกาสความก้าวหน้าในสายวิชาชีพอาชีวศึกษา รวมถึงผลตอบแทนที่ดีตามระดับทักษะความสามารถที่ได้รับการประเมินตามมาตรฐาน นอกจากนั้นสร้างความภาคภูมิใจให้กับบุคลากรสายวิชาชีพอาชีวศึกษาว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ 2.การต่อยอด ขยายโครงการทวิภาคี ซึ่งแต่ละบริษัทดำเนินการอยู่แล้ว เช่น กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรม สาขาวิชาชีพที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของประเทศ การพิจารณาสถานศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถรองรับการพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการ การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนโดยภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ให้นักเรียนเข้าฝึกงานในสถานประกอบการที่มีเทคโนโลยีได้มาตรฐานสากล การรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานจากหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับ การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและเพื่อการประกอบอาชีพสำหรับผู้เรียนสายวิชาชีพอาชีวศึกษา การพัฒนาด้าน ICT เพื่อการศึกษาและบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาโดยเฉพาะในสายวิชาชีพอาชีวศึกษา และ 3. การพัฒนาฐานข้อมูลทั้งดีมานด์และซัพพลายภาพรวมทั้งประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ โดยเน้นความเร่งด่วนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ดร.อรรชกา กล่าว


 

ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า สำหรับความร่วมมือระหว่างภาคเศรษฐกิจ การศึกษา แรงงาน และอุตสาหกรรมในการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษานั้น ภาคเอกชนจะมีการให้คำแนะนำเสนอแนะโครงการวิธีปรับปรุงและยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา  ส่วนภาครัฐจะมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้การสนับสนุนปรับปรุงด้านนโยบาย กฎระเบียบและสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา รวมถึงการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของภาคเอกชนและความต้องการของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีความคิดพื้นฐานที่สอดคล้องกับการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา โดยมีระยะเวลา 2 ปี หลังจากที่มีการลงนาม MOU แล้ว เพื่อเป็นต้นแบบของความร่วมมือ นำไปสู่การขยายผลเพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป