กรอ. จับมือ สอท. เปิดตัวระบบออโต้อี-ไลเซนส์ ระบบจัดการกากฯ 4.0

ไวเพียง 3 วินาที มั่นใจปีนี้กากเข้าระบบได้ตามเป้า

  

 

  • กรอ. โชว์นวัตกรรมโรงงานกำจัดกากสุดล้ำ ชี้ 5 อันดับกากอุตสาหกรรมมีประโยชน์  รีไซเคิลได้กว่า 1 ล้านตัน

 

กรุงเทพฯ 22 พฤษภาคม 2561 –  กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดตัวระบบพิจารณาอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงาน หรือ สก.2 ในรูปแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์         (Auto E-License) ที่พัฒนาความรวดเร็วในการอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงาน จากเดิม 3 นาที เป็น 3 วินาที พร้อมโชว์นวัตกรรมโรงงานผู้รับบำบัดและกำจัดกากอุตสาหกรรม อาทิ  ระบบปรับคุณภาพและฝังกลบสิ่งปฏิกูลที่เป็นอันตราย การนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งจากกากอุตสาหกรรม และการเผาในเตาปูนซีเมนต์ที่สามารถควบคุมมลพิษได้ โดยในปีนี้ตั้งเป้านำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ 1.24 ล้านตัน  นอกจากนี้ กรอ. ยังได้เผยถึง กากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายและสามารถนำมารีไซเคิลได้ 5 อันดับ ได้แก่ ชานอ้อย เถ้าลอย กากหม้อกรอง/กากน้ำตาล เศษเหล็ก และวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่ง พบว่า มีการแจ้ง รับกากดังกล่าว มากำจัด 1,051,963.52  ตัน

 

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันกากอุตสาหกรรมในระบบที่มีมากถึงปีละ 35 ล้านตัน  ประกอบกับการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนที่รัดกุมตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ที่ผ่านมาการนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานแต่ละครั้งต้องใช้เวลานาน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) พัฒนาระบบพิจารณาอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงาน หรือ สก.2 แบบอัตโนมัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Auto E-License) เพื่อช่วยลดภาระและเพิ่มความรวดเร็วให้กับผู้ก่อกำเนิดและผู้รับบำบัดกำจัดกาก โดยในปีนี้ได้เพิ่มจำนวนผู้รับบำบัดและกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองจากเดิม 14 ราย เป็น 28 ราย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากในการบำบัดหรือกำจัดกากให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับระบบ Auto E-License ที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่ มีความรวดเร็วในการอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงาน จากเดิม 3 นาที เป็น 3 วินาที ผ่าน www.diw.go.th ส่วนในด้านการเพิ่มจำนวนผู้รับบำบัดและกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรอง ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นผู้รับบำบัด และกำจัด กากอุตสาหกรรมชั้นดี หรือพรีเมียมเกรด มีมาตรฐานเทียบเท่ากับระดับสากล  สามารถรับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายได้กว่าร้อยละ 50  ของปริมาณกากอุตสาหกรรมอันตรายที่แจ้งขนส่งไปกำจัดในปี 2560 นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้รับบำบัดกำจัดดังกล่าว ยังมีความล้ำสมัยในการกำจัดของเสียหลากหลายรูปแบบ อาทิ การใช้ระบบปรับคุณภาพและฝังกลบสิ่งปฏิกูลที่เป็นอันตราย การนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งจากกากอุตสาหกรรม รวมถึงการเผาในเตาปูนซีเมนต์ที่สามารถควบคุมมลพิษได้ เป็นต้น

 

นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอ.คาดว่าการพัฒนาระบบดังกล่าว จะช่วยให้ปริมาณกากอุตสาหกรรม เข้าระบบได้ตามเป้าหมาย คือจำนวน 1.24 ล้านตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันได้มีกากอุตสาหกรรมเข้าระบบไปแล้วกว่า 0.989 ล้านตัน หรือประมาณ79 % นอกจากนี้ยังจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆตามมา อาทิ ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ก่อกำเนิดกาก

 

 

 

อุตสาหกรรมบางรายกรณีที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการจัดเก็บกากอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้กากอุตสาหกรรมเข้าระบบมากขึ้น เนื่องจากการดำเนินการขออนุญาตสะดวกและรวดเร็วทันใจ พร้อมทั้งยังช่วยให้เห็นถึงการกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธี มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ดี  ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงทำให้ปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปริมาณกากอุตสาหกรรมอันตรายที่พบมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ฝุ่นแดงจากโรงหลอมเหล็ก  วัสดุปนเปื้อน บรรจุภัณฑ์ปนเปื้อน เถ้าลอยที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และกากตะกรันอลูมิเนียม โดยมีปริมาณการแจ้งรับกากอันตรายมากำจัด  653,197.94 ตัน   ส่วนกากอุตสาหกรรมที่มีการนำมารีไซเคิลมากที่สุดได้แก่  ชานอ้อย ที่มาจากการทำหีบอ้อย  เถ้าลอย ที่มาจากการกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า กากหม้อกรอง/กากน้ำตาลที่มาจากกระบวนการเปลี่ยนอ้อยไปเป็นน้ำตาล เศษเหล็ก ที่มาจากการตะไบ การเจียร หรือการกลึง และวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ที่พบว่ามีการแจ้งรับกากไม่อันตรายมากำจัด 1,051,963.52  ตัน

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกูล  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  โครงการนำร่อง Auto E-license ตั้งแต่ปี 2559   โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก  แลพได้ดำเนินการขยายผลไปยังผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทำให้ระบบการอนุญาตนำของเสียออกนอกบริเวณโรงงานมีความรวดเร็ว มั่นใจ และปลอดภัย  และช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดี และให้การสนับสนุนโดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาประยุกต์ใช้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริม อุตสาหกรรม 4.0 สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ในการสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน   นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

 

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 022024167 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th

 

###