ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรม มีภารกิจในการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายด้านอุตสาหกรรมกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) รวมทั้งสิ้น 10 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยในอนาคตที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน

 

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การกำกับดูแลและควบคุมการระบายมลพิษจากโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเตรียมความพร้อมในมิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหากากอุตสาหกรรมที่มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกวันตามการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ 3 ทั่วประเทศที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนประมาณ 68,000 ราย แม้จะมีกฎหมายกำกับดูแลด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นเวลานานกว่า 10 ปี แต่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงงานที่เข้าสู่ระบบการจัดกากอุตสาหกรรมที่ถูกต้องเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงาน SMEs ซึ่งเป็นโรงงานจำพวกที่3ทั่วประเทศ ได้เข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมได้อย่างสะดวกและถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น กรมโรงงานฯ จึงได้ดำเนินการ โครงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. 2558-2562 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 พฤษภาคม 2558 ประกอบด้วย 4ยุทธศาสตร์และหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ การควบคุม กำกับดูแล และการบังคับใช้กฎหมายซึ่งโครงการดังกล่าวกรมโรงงานฯ มอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมและจะต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ให้ปฎิบัติได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548

  

ศูนย์ช่วยเหลือฯ จะทำหน้าที่เป็นหน่วยคัดกรองข้อมูลเบื้องต้นของโรงงานฯ โดยมีเครือข่ายทั่วทั้งประเทศใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ 1. ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2. ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3. ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 4.ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยบูรพา 5. คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 6. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 7.กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (ศูนย์ความเป็นเลิศฯ จะจัดเจ้าหน้าที่มาประจำ) โดยที่ปรึกษาจัดทีมเจ้าหน้าที่ไปให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่สำนักงานอุตสาหกรรมประจำจังหวัดต่างๆ หมุนเวียนกันไปทั้ง 6 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากการให้คำแนะนำด้านปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือแนะนำการใช้ระบบสารสนเทศSmart form รูปแบบ Web Application ในการกรอกข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจำแนกประเภทโรงงานและลักษณะกากอุตสาหกรรมตามลำดับประเภทโรงงาน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้เป็นการช่วยระบุรหัสกากอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนั้น ศูนย์ช่วยเหลือฯ ได้จัดคณะผู้เชี่ยวชาญพร้อมเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำแนะนำแก่โรงงานสำหรับผู้เริ่มต้นที่ยังไม่ทราบว่าโรงงานอุตสาหกรรมของตนเองนั้น จะเกิดกากอุตสาหกรรมใดบ้าง และสามารถนำไปกำจัดและบำบัดให้เหมาะสมได้อย่างไร ซึ่งในปีแรกจะมุ่งเน้นที่ผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ก่อน โดยจะเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 เป็นต้นไป

  

อย่างไรก็ตาม ประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 วางแนวทางในการขออนุญาตจัดการกากอุตสาหกรรมไว้ 3 วิธี ได้แก่ การขออนุญาตกักเก็บภายในบริเวณโรงงานเกิน 90 วัน (สก.1)การขออนุญาตนำออกไปบำบัดกำจัดนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) และการขอความเห็นชอบเพื่อกำจัดบำบัดเองภายในบริเวณโรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานเข้าสู่ระบบกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องแล้วเพียง 7 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 5,300 โรง จากโรงงานที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนทั้งหมด 68,000 โรง ซึ่งจากการประเมินตัวเลขกากอุตสาหกรรมมีปริมาณ 37.41 ล้านตัน ประกอบด้วย กากอันตราย 2.84 ล้านตัน และกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย 34.57 ล้านตัน ในการนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการไม่ต่อใบอนุญาตโรงงานให้กับโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกากอุตสาหกรรม ถือเป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้โรงงานทยอยเข้าสู่ระบบฯ มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ภายใน 5 ปี หรือ พ.ศ. 2562

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการทั้งหมด ซึ่งคาดว่าในอนาคต จะเห็นโครงการที่ส่งเสริมสนับสนุนให้กำจัดกากอุตสาหกรรมถูกวิธีอย่างจริงจังและตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ พร้อมเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือด้านมาตรการสิ่งแวดล้อมในสายตาคู่ค้าต่างชาติ และช่วยลดการกีดกันทางการค้า หากไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานฯ คาดว่าถ้าการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จจะก่อให้เกิดธุรกิจกำจัด/บำบัด/รีไซเคิลกากในประเทศมูลค่ากว่า 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี ดร.พสุกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจโครงการต่าง ๆ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม  สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์pr@diw.mail.go.th