กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวโครงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อช่วย SMEs ที่ยังไม่เข้าระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม ให้สามารถจัดการกากฯ โดยมีศูนย์เครือข่ายตั้งอยู่ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ 1. ภาคกลาง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4. ภาคตะวันตกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5.ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา และ 6.ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสามารถขอรับคำปรึกษาดังกล่าวได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2202-4168 หรือ www.diw.go.th
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ 3 ทั่วประเทศกว่า 79,600 ราย (ข้อมูลเมื่อธันวาคม 2558) ซึ่งเป็นโรงงานที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน แม้จะมีกฎหมายกำกับดูแลด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นเวลานานกว่า 10 ปี แต่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงงานที่เข้าสู่ระบบการจัดกากอุตสาหกรรมที่ถูกต้องเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงาน SMEs ทั่วประเทศ ได้เข้าสู่ระบบการจัดการกากฯ อย่างถูกต้องตามกฎกระทรวง กรอ.จึงได้ดำเนินการเปิด ”โครงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม” โดยมอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่อยู่ในระบบ และจะต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือจากศูนย์ฯ ให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า สำหรับศูนย์ช่วยเหลือฯ ดังกล่าว เปิดบริการให้คำปรึกษาด้านการจำแนกประเภทและลักษณะกากอุตสาหกรรมตามลำดับประเภทโรงงาน จำนวน 104 ประเภท เพื่อระบุรหัสกากอุตสาหกรรม การแนะนำโรงงานผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับประเภทกากอุตสาหกรรม รวมถึงการเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ประกอบการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ภายใต้โครงการดังกล่าวฯ มีการพัฒนาองค์ความรู้จากฐานข้อมูลด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมมาประยุกต์ใช้ในระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยจะพัฒนาเป็นระบบฐานข้อมูลสารสนเทศให้ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรมได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและสามารถเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นำไปสู่ความสามารถแข่งขันในระดับโลกได้
ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ช่วยเหลือฯ ดังกล่าวดำเนินงานในรูปแบบของศูนย์เครือข่ายฯที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือโดยมีศูนย์ประสานงานกลางอยู่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม และมีศูนย์เครือข่ายตั้งอยู่ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ 1. ภาคกลาง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4. ภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5. ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา และ 6. ภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย กรอ.ได้ดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด โดยสามารถขอรับคำปรึกษาดังกล่าวได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจรับคำปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2202-4168 หรือ www.diw.go.th และwww.facwaste.com