กรอ. รับสนองนโยบาย “สุริยะ” ร่วมขับเคลื่อน 5 เครื่องยนต์อุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน

 

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไทย สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ปลื้ม 8 เดือนนักลงทุนไทย-เทศขออนุญาตตั้งโรงงานใหม่-ขยายกิจการในพื้นที่ EEC เฉียด 8 หมื่นล้านเพิ่มขึ้น 107% ด้านอธิบดีกรมโรงงานฯ พร้อมสนองนโยบายเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืน

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยม
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 62 ว่าขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายที่สำคัญ 5 ด้าน
ที่จะให้ กรอ. และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 รองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมถึงเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นในภาวะ
ที่เศรษฐกิจโลกประสบปัญหาชะลอตัวจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

 

สำหรับนโยบาย 5 ด้าน ประกอบด้วย การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve),
การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่ 4.0, การส่งเสริมภาคการผลิตไปสู่ 4.0 ด้วยการยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ Factory 4.0, นโยบายการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ และนโยบายการปรับแนวคิดและรูปแบบการให้บริการของทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม

 

นโยบายทั้ง 5 ด้าน ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศไทย
โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี โดยข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค.- ส.ค. 62 มีผู้ประกอบการไทยและต่างชาติทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ
(รง.4) และขยายการลงทุนในพื้นที่การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี, ระยอง และ ฉะเชิงเทรา จำนวน 339 ราย มูลค่าการลงทุน 79,910.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 107.8% ยอดการจ้างงานใหม่ 17,011 คน อย่างไรก็ตาม หากจะนับเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ส่งเสริมพื้นที่ EEC ในช่วงเดือน ม.ค. – ส.ค. 62 มีจำนวน 62 ราย การจ้างงานกว่า 7,900 คน และมูลค่าลงทุน 21,203.40 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 18 โรงงาน จ้างคนงานเพิ่ม 5,549 คน มูลค่าลงทุน 14,227.59 ล้านบาท, อุตสาหกรรมยานยนต์ 21 โรงงาน จ้างคนงาน 1,044 คน มูลค่าลงทุน 5,850.19 ล้านบาท,อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 16 โรงงาน จ้างงาน 533 คน มูลค่าลงทุน 563.89 ล้านบาท,อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสุขภาพ 3 โรงงาน จ้างงาน 747 คน มูลค่าลงทุน 336.5 ล้านบาท และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกล 4 โรงงาน จ้างงาน 57 คน และมีมูลค่าลงทุน 195.22 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรม S-Curve อื่นๆ ก็สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่ยอดขอรับใบอนุญาต รง.4 ทั้งประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงานทั่วประเทศในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 2,696 โรงงาน มูลค่าลงทุน 308,862.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.07% มีการจ้างงาน 118,782 คน  โดยอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก

 

ประกอบด้วย อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 81,367.45 ล้านบาท, อุตสาหกรรมจากปิโตรเลียม 39,643.93 ล้านบาท, อุตสาหกรรมอาหาร 32,715.47 ล้านบาท, อุตสาหกรรมผลิตเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ 21,691.03 ล้านบาท และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 16,724.94 ล้านบาท ตามลำดับ

“การส่งเสริมภาคการผลิตไปสู่ 4.0 นั้น กรอ. ให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่
ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นกลไกที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางและกับดักความเหลื่อมล้ำ นำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

 

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า
ในวันนี้ (29 ส.ค. 62) นอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบนโยบายแล้ว กรมโรงงานฯ
ได้มีข้อหารือเพิ่มเติม อาทิ 1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการและการกำกับดูแลเขตประกอบการและโรงงานในเขตประกอบการเพื่อสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรม เนื่องจากการกำกับดูแลโรงงานในเขตประกอบการอุตสาหกรรม ตามมาตรา ๓๐ แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ไม่ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ไม่เอื้อต่อการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อรับการสนับสนุนและพัฒนารวมถึงการส่งเสริมให้เกิด Circular Economy ตามนโยบายรัฐบาล และ 2. การปรับปรุงร่างกฎหมายเพื่อกำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมีความทันสมัย เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนรูปแบบใหม่ เสริมสร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสร้างศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ เช่น ด้านราคา สินค้า บริการ ความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้รับบริการหรือผู้บริโภคต่อไป

 

สำหรับนโยบาย 5 ด้าน ที่สำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะประเด็นการส่งเสริมภาคการผลิตไปสู่ 4.0 ด้วยการยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ Factory4.0 ที่เน้นการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยการใช้วัตถุดิบหมุนเวียน ซึ่งเป็นนโยบายที่ กรอ. เป็นหน่วยงานหลักในการเข้าไปกำกับดูแล

นอกจากนี้ กรอ. ยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้กับสถานประกอบการในการช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

นายทองชัย กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2563 กรอ. ได้เสนองบประมาณ 1,137 ล้านบาท
ส่วนใหญ่เป็นงบดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
มีเป้าหมายสำคัญคือผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนขยายผลการดำเนินงานของปีงบประมาณ 2562 ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ, การดูแลน้ำภาคอุตสาหกรรม, การยกระดับศักยภาพ SMEs ตามนโยบาย Factory 4.0, การกำกับดูแลกากอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เป็นระบบและตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น


 

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการ กรมโรงงานอุตสาหกรรม  02-2024014